โครงการ “อาหารเป็นยา วิถีคนจันท์” ด้านการแพทย์แผนไทยประยุกต์ให้อาหารเป็นยา

Banner COVID

P1076790

20 มกราคม 2565 ที่ห้องประชุมพลอยจันท์ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดจันทบุรี นพ.ไพจิตร วราชิต ประธานที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พลเอกภานุวัชร นาควงศม์ ประธานที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยฯ นพ.ณรงค์ สายวงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และคณะลงพื้นที่จังหวัดจันทบุรี ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการเมืองสมุนไพรจังหวัดจันทบุรี ครั้งที่ 1/2565 เพื่อพิจารณาดำเนินการโครงการ “อาหารเป็นยา วิถีคนจันท์”เพื่อส่งเสริมการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหาร ด้วยการนำองค์ความรู้ด้านการแพทย์แผนไทยประยุกต์ให้อาหารเป็นยา โดยผนวกเข้ากับองค์ความรู้อาหารท้องถิ่น โดยมีนายนิเวศน์ หาญสมุทร รองผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี,นพ.อภิรักษ์ พิศุทธ์อาภรณ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดจันทบุรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมประชุม

272059309_1984733288375829_5472243606745565560_n

ประธานที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่าการรับประทานอาหารผักพื้นบ้านเป็นวัฒนธรรมทางการบริโภคอาหารของไทยสั่งสมมาเป็นเวลาช้านาน ผ่านกระบวนการลองผิดลองถูกมาหลายชั่วอายุคน ผักสด ผักต้นต่างๆ ที่ใช้จิ้มน้ำพริก ช่วยให้ได้เส้นใยอาหาร วิตามิน เอ บี ซี แคลเซียมและฟอสฟอรัส ครบถ้วน ส่วนพืชเส้นใยนั้น แก้อาการท้องผูกได้ด้วย และเรายังพบว่าคนไทยสมัยก่อนบริโภค อาหารโดยคำนึงถึงประโยชน์ของอาหารทั้งในแง่ที่เป็นอาหารและยารักษาโรคควบคู่ไปด้วยนั้นคือ กินเพื่อแก้ไขหรือปรับธาตุทั้ง 4 ในร่างกายให้เกิดความสมดุลกันอีกด้วย เช่น แกงส้มดอกแคแก้ไข้หัวลม แกงส้มมีรสเปรี้ยวจะบำรุงธาตุน้ำ รสเผ็ดบำรุงธาตุลม ดอกแคก้านเกสรมีรสขมจะแก้ไข้ ต้มยำมีส่วนประกอบของ ตะไคร้ พริก หอม ข่า ใบมะกรูด ช่วยขับลมและระบบการย่อยอาหาร และจากสถานการณ์การระบาดใหญ่ (pandemic) ของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) ในหลายประเทศทั่วโลกในขณะนี้ การดูแลสุขภาพและการเสริมภูมิคุ้มกันให้กับร่างกายด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เช่น พืช ผัก ผลไม้ และสมุนไพร ที่ช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ที่อุดมไปด้วยวิตามินซีหรือสารต้านอนุมูลอิสระ หรือสมุนไพรที่มีสารสำคัญที่มีศักยภาพในการลดการติดเชื้อไวรัสได้ จะช่วยให้ร่างกายมีภูมิต้านทานที่แข็งแรงขึ้น ลดโอกาสติดเชื้อทางเดินหายใจจากโรค COVID-19 หรือหากติดเชื้อก็อาจช่วยลดความเสี่ยงที่จะมีอาการรุนแรงได้

P1076801

เป้าประสงค์ของโครงการ
1.คนไทยมีความรู้และใช้อาหารไทยในการดูแลสุขภาพ
2.อาหารไทยเป็นอาหารสุขภาพนำครัวไทยสู่ครัวโลก
3.พัฒนาอาหารไทยด้วยนวัตกรรมให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล

โดยมียุทธศาสตร์ ส่งเสริมความรู้ และการปลูกสมุนไพรเพื่อการบริโภค พัฒนาคุณภาพการผลิตและการตลาดอาหารไทย ส่งเสริมสมุนไพรผ่านอาหารไทย ทั้งอาหารพื้นถิ่นและระดับชาติที่มีศักยภาพตามความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ สร้างความเข้มแข็งของกลไกการบริหารเพื่อสนับสนุนนโยบายขับเคลื่อนด้านอาหาร